วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556
ประวัติของไผ่
คนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย รักธรรมชาติ ยิ้มแย้มแจ่มใสใจดี รักศิลปะ เสียงเพลงและดนตรี มีนิสัยอ่อนโยนอ่อนน้อมถ่อมตนและสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดีมีภูมิปัญญาสามารถนำสิ่งที่ใกล้มือในท้องถิ่นมาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือใช้สอยในชีวิตประจำวันได้อย่างสวยงามโดยเฉพาะไม้ไผ่ เป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์โดยตรงหรือแปรรูปให้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิต คนไทยรู้จักคุ้นเคยและมีความผูกพันอย่างชนิดแยกไม่ออกมาตั้งแต่เกิดจนตาย กลายเป็นวัฒนธรรมสืบทอดกันต่อมา “ไผ่” เป็นชื่อพันธุ์ไม้พวกหนึ่ง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ กล่าวว่า ไผ่เป็นชื่อพรรณไม้พวกหนึ่ง ( Bambusa spp.) อยู่ในวงศ์ Graminese เป็นกอ ลำต้นสูง และเป็นปล้องๆ มีหลายชนิดมากกว่า ๑,๒๕๐ ขนิด ๕๐ ตระกูล เช่น ไผ่จีน ไผ่ป่า ไผ่สีสุก ไผ่เลี้ยง ไผ่ดำ เป็นต้น ไม้ไผ่เป็นพันธุ์ไม้ที่มีลักษณะเฉพาะที่แปลกไปจากพืชและพันธุ์ไม้อื่นๆ เพราะแม้ว่าไผ่มีลักษณะที่ควรจะเป็นต้นไม้ แต่ไผ่กลับถูกจัดเป็นหญ้าประเภทหนึ่ง และเป็น “หญ้ายักษ์” เพราะลำต้นสูง กลวงเป็นปล้องๆ หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าใบไผ่คล้ายกับใบหญ้า ไผ่ขยายพันธุ์ด้วยการแตกหน่อ เพราะหนึ่งในร้อยปีไผ่จึงอาจจะออกดอกสักครั้ง และหลังจากออกดอกแล้วก็ตาย ไผ่จะเติบโตอย่างรวดเร็วและจะโตเต็มที่ภายในสองเดือน และจะคงขนาดเช่นนั้นไปตลอดชีวิตของมัน ลำต้นของไผ่จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ ๐.๗ – ๗ นิ้ว สูง ๑ – ๖๐ ฟุต ไผ่ขึ้นได้ทั้งในบริเวณที่มีอากาศอบอุ่นและอากาศเย็นต่ำกว่าศูนย์องศา ไผ่จึงเป็นไม้ที่มีมากในบริเวณเอเซียและแปซิฟิค อเมริกาใต้บางท้องถิ่น
คุณลักษณะพิเศษของ “ไผ่”
๑.ไผ่โตเร็วสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ภายในเวลา ๑ – ๔ ปี และใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตั้งแต่รากไผ่เป็นสมุนไพรอย่างหนึ่งที่ใช้เป็นยารักษาโรคได้ หนิอไผ่หรือหน่อไม้ใช้ทำอาหาร กาบหรือใบไผ่ใช้ห่ออาหารหรือหมักปุ๋ย กิ่งและแขนงใช้ทำรั้ว ลำต้นใช้ประโยชน์ได้สารพัดอย่าง ตั้งแต่นำมาใช้ปลูกสร้างที่พักอาศัยและแปรรูปเป็นเครื่องจักสานและเครื่องมือเครื่องใช้นานาชนิดจนถึงนำมาใช้เกี่ยวกับความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย
คังนั้นชาวนาจึงมักปลูกไผ่ตามหัวไร่ปลายนา และปลูกไว้รอบๆบ้าน เพื่อใช้เป็นรั้วบ้านและป้องกันพายุ เพราะไม้ไผ่จะลู่ตามลมไม่หักโค่นเหมือนไม้อื่น หากปลูกไผ่ไว้ตามริมแม่น้ำลำคลอง จะช่วยชะลอความเร็วของกระแสน้ำไม่ให้ดินพัวทะลายง่าย นอกจากนี้ไผ่ยังใช้เป็นอาหารในครัวเรือนได้ด้วย
เปลสานสำหรับเด็กอ่อน
ขลุ่ยญี่ปุ่น
๒. ไผ่มีลำต้นตรงและกลวงคล้ายหลอดและมีปล้องข้อคั่นเป็นปล้องๆ จึงใช้เป็นภาชนะประเภทกระบอก ถ้วย สำหรับใส่ของเหลว เช่นใช้เป็นกระบอกน้ำ กระบอกน้ำตาล ซึ่งใช้กันทั่วไปในหลายประเทศ ลักษณะพิเศษของไม้ไผ่นี้สามารถนำมาใช้สร้างอาคารที่พักอาศัยได้ โดยนำมาทำเป็นโครงสร้างของบ้านเรือน ใช้เป็นพื้นเรือน ฝาเรือน ใช้ทำรางน้ำ ท่อน้ำ และทำเครื่องดนตรีประเภทขลุ่ยได้ดีอีกด้วย
ปลอกมีดเขียนลวดลาย
หวี
๓. เนื้อไผ่เป็นเส้นตรงมีความยืดหยุ่นในตัวเองและสามารถคินตัวสู่สภาพเดิมได้ เมื่อนำไม้ไผ่มาแปรรูปก็จะสามารถใช้ประโยชน์ได้ดี เพราะเนื้อไม้ไผ่เป็นเส้นตรง นำมาจักเป็นปื้นบางๆ หรือเหลาเป็นเส้นได้ดี จึงใช้ทำเครื่องจักสานนานาชนิดได้ ทั้งเครื่องจักสานที่มีขนาดใหญ่ แข็งแรงมั่นคง สำหรับใช้งานหนักจนถึงเครื่องจักสานขนาดเล็กที่มีความปราณีตบอบบาง และเพราะคุณสมบัติในที่มีความยืดหยุ่น จึงเหมาะที่จะใช้เป็นเครื่องหาบหรือหาม เช่น คาน คันกระสุน คันธนูและเมื่อแปรรูปเป็นตอกก็ยังมีความยืดหยุ่นคืนรูปทรงเดิมได้ง่ายจึงทำให้ภาชนะจักสานที่ทำจากไผ่มีคุณลักษณะพิเศษต่างไปจากภาชนะที่ทำจากวัตถุดิบชนิดอื่น
๔. ไม้ไผ่มีความสวยงามในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นผิวที่มีสีต่างๆ กันเมื่อแห้งแล้วมักจะมีสีเหลืองอยู่เช่นนั้นตลอดไป ด้วยคุณสมบัติพิเศษนี้ ชาวเอเซียจึงใช้เหล็กหรือโลหะเผาไฟจนร้อนแล้วเขียนตัวอักษรหรือลวดลายลงบนผิวไม้ไผ่ ( Bamboo Pyrographic ) เช่นจีนจารึกบทกวีบนผิวไม้ไผ่ ชาวญี่ปุ่นใช้เขียนชื่อเจ้าของบ้านแขวนไว้หน้าบ้านและจารึกบทกวีแขวนไว้สองข้างประตูเรือนน้ำชา ( Tea House ) ชาวเกาหลีใช้เขียนเป็นลวดลายบนเครื่องใช้ เช่นเดียวกับที่ชาวบาตัก ( Batak) ในประเทศอินโดนีเซีย ใช้เหล็กเผาไฟ ขูด ขีด เขียน ลงบนกระบอกไม้ไผ่ สำหรับเก็บยาหรือทำเป็นปฏิทิน ในขณะที่ชาวบาหลีใช้จารลงบนผิวไผ่เป็นแผ่นๆ เพื่อใช้เป็นคัมภีร์ในศาสนาตน นอกจากไม้ไผ่จะมีผิวสวยแล้ว เนื้อไผ่ยังมีลักษณะพิเศษต่างจากเนื้อไม้อื่นคือ มีเสี้ยนยาวขนานกันเป็นเส้น จึงแปรรูปเป็นเส้น เป็นปื้น หรือเหลาให้กลมได้ง่าย และเมื่อแก่เต็มที่แล้วจะเป็นเส้นละเอียดแข็ง มอดแมลงไม่กินจนมีผู้กล่าวว่า เครื่องจักสานไม้ไผ่นั้น ผู้สานสามารถสานให้เป็นรูปทรงแปลกๆ แตกต่างกันได้มากมาย จนเครื่องจักสานบางชิ้นมีรูปทรงและผิวสวยงามดุจงานประติมากรรมสมัยใหม่ทีเดียว
งานศิลปหัตถกรรมจากไม้ไผ่ของมูลนิธิศิลปาชีพ
ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
ไม้ไผ่ในชีวิตคนเอเซียและแปซิฟิค
จากคุณลักษณะพิเศษของไม้ไผ่ดังกล่าวคนเอเซียและแปซิฟิกจึงนำไม้ไผ่มาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดจะมีรูปแบบและประโยชน์ใช้สอยแตกต่างกันไปตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่นแต่ละประเทศต่างกันไป บางชนิดมีคุณค่าทางศิลปะและสุนทรียภาพควบคู่ไปกับประโยชน์ใช้สอย และมีความเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อขนบประเพณีของผู้สร้างและผู้ใช้ในแต่ละถิ่นแต่ละประเทศ
ศิลปหัตถกรรมจากไม้ไผ่ของญี่ปุ่น
ชาวจีนเรียกไม้ไผ่ว่า “ชู” (Chu) ไผ่มีความผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวจีนมาแต่อดีต ตั้งแต่ใช้หน่อไม้เป็นอาหาร ใช้ทำตะเกียบ ใช้สร้างที่อยู่อาศัย ทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ ใช้เป็นอาวุธและเป็นเครื่องดนตรี ตลอดจนทำไม้เรียว ทำเป็นเชือกเพื่อผูกมัดมนุษย์เข้าด้วยกัน
ชาวญี่ปุ่นเรียกไม้ไผ่ว่า “ทา-เก” (ta-ke) และในประเทศญี่ปุ่นมีไม้ไผ่ชนิดต่างๆถึง ๔๐๐ – ๕๐๐ ชนิด ชาวญี่ปุ่นนำไม้ไผ่มาใช้ประโยชน์มากมายมาแต่สมัยโบราณ กล่าวกันว่าเมื่อสองร้อยปีมาแล้ว ชาวญี่ปุ่นจะจารึกชื่อเจ้าของบ้านไว้บนท่อนไม้ไผ่แขวนไว้หน้าบ้าน บอกจากนี้ชาวญี่ปุ่นยังนำไม้ไผ่มาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้และงานหัตถกรรมหลายชนิดเป็นชาติหนึ่งในเอเซียที่ใช้ไม้ไผ่ให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง
ที่อยู่อาศัย
เรือนข้าว จ.นราธิวาส
ไม้ไผ่ที่นำมาทำเป็นที่อยู่อาศัย คุณสมบัติพิเศษของไม้ไผ่ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องแปรรูปและแปรรูป และเป็นไม้ที่มีความคงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศได้ดี จึงมีการนำไม้ไผ่มาสร้างเป็นบ้านเรือนที่พักอาศัยกันทั่วไป เช่นเรือนไม้ไผ่ในประเทศไทยที่เรียกว่า “เรือนเครื่องผูก” ที่สร้างด้วยไม้ไผ่แทบทั้งหมด ตั้งแต่ใช้เป็นโครงสร้างและส่วนประกอบของบ้านเรือน ได้แก่ ใช้ลำไม้ไผ่เป็นเสา โครงหลังคา และใช้ไม้ไผ่แปรรูปด้วยการผ่าเป็นซีกๆ เป็นพื้นและสานเป็นแผงใช้เป็นฝาเรือน เป็นต้น
ชาวชนบทที่มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีนักมักสร้างเครื่องเรือนผูกเป็นที่อยู่อาศัย เพราะสามารถสร้างได้เองโดยใช้ไม้ไผ่และวัสดุที่มีในท้องถิ่นของตนมาประกอบกันเป็นเรือนที่พักอาศัย รูปแบบของเรือนเครื่องผูกจะแตกต่างกันไปตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่นโดยทั่วไปจะใช้ไม้ไผ่เป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง
บ้านชนบทริมน้ำสร้างด้วยไม้ไผ่
บ้านในชนบทสร้างด้วยไม้ไผ่
การใช้ไม้ไผ่สร้างเป็นที่พักอาศัยนี้มีอยู่ทั่วไปในประเทศที่มีไม้ไผ่ ซึ่งอาจจะใช้ไม้ไผ่เป็นโครงสร้างของบ้านเรือนโดยตรงหรือใช้ประกอบกับวัสดุอื่น เฉพาะประเทศในเอเซียนั้นมีหลายท้องถิ่นที่ใช้ไม้ไผ่สร้างเป็นบ้านเรือน เช่น บ้านของชาวสุราเวสี (Surawesi ) และบ้านเรือนของชาวเกาะต่างๆ ในประทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย นอกจากการใช้ไม้ไผ่สร้างที่อยู่อาศัยแล้วยังใช้ไม้ไผ่สร้างสะพาน ทำเป็นแพหรือลูกบวบเป็นที่พักอาศัยในแม่น้ำลำคลองด้วย และรวมทั้งการนำไม้ไผ่มาทำรั้วบ้าน ทำคอกวัว คอกควาย เล้าเป็ด เล้าไก่ ด้วยว่าไม้ไผ่เป็นสิ่งหาง่ายในท้องถิ่น
เครื่องมือเครื่องใช้
ตะกร้าหิ้วจังหวัดราชบุรี
งานไม้ไผ่ที่ใช้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือนและชีวิตประจำวัน งานไม้ไผ่ประเภทนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับชีวิตมนุษย์มาช้านานและอาจจะเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนที่เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่ง เฉพาะอย่างยิ่งชาวตะวันออกนั้น มีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้ไผ่มาแต่โบราณ เช่น ตะเกียบไม้ไผ่ของจีน เป็นเครื่องมือการกินอาหารที่ทำอย่างง่ายๆ แต่ใช้ประโยชน์ได้อย่างดี ก่องข้าวและกระติบสำหรับใส่ข้าวเหนียวของชาวอีสานและชาวเหนือ เป็นตัวอย่างที่ดีซึ่งแสดงให้เห็นความชาญฉลาดในการนำไม้ไผ่มาแปรรูปเป็นภาชนะสำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่งได้ดีเท่าก่องข้าวและกระติบที่สานด้วยตอก
นอกจากนี้ยังใช้ทำเครื่องใช้สอยในครัวเรือน เช่นตะกร้า กระจาด สาแหรก กระบอกเป่าไฟ กระชอน ตะเกียบ ชะลอม ที่เสียบมีด กระบอกเก็บสาก ทัพพี ช้อน ตะหลิว ทำพัด ตับปิ้งปลา ทำฟืน ด้ามเครื่องมืออื่นๆ เครื่องจักสาน ของที่ระลึกเครื่องเขิน ทำโครงร่ม ไม้กวาด ใช้เป็นไม้ค้ำยันในการทำการเกษตร เช่นไม้ค้ำต้นส้ม ค้ำผัก ค้างถั่ว ฯลน ไม้ไผ่ยังใช้เป็นหลักปักกองฟาง ใช้ทำเข่งบรรจุผลไม้ บรรจุใบชา ของป่าต่างๆ ทำหุ่นหรือลูกบวบหนุนเรือนแพล่องไม้ไม่ให้จม บุ้งกี๋ กระพ้อม เสียม เสื่อลำแพน ทำท่อ ทำโต๊ะ เก้าอี้ และเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งภายในบ้าน
ก่องข้าวภาคเหนือ
กระจาดภาคกลาง
ก่องข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)